พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช

      

ในด้านศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายประการในการทะนุบำรุงศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยมีพระราชจริยวัตรเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นพุทธมามกะผู้เคร่งครัดและสม่ำเสมอด้วย ปฏิบัติบูชาทรงพระกรุณาประมวลคำสอนของพระภิกษุผู้เป็นพระอาจารย์ทรงคุณธรรมสูง พระราชทานแก่ข้าราชบริพารและข้าราชการในราชสำนัก ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ข้าราชสำนักเป็นผู้ใฝ่ในทางธรรม เพื่อความเจริญของตนเองและหมู่คณะ ทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว การเกื้อกูลข้าราชบริพารเช่นนี้ เป็นวัตรข้อหนึ่งในจักวรรดิวัตร นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์คุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกศาสนา


      

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อส่งเสริมบำรุงให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น เช่น เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา โปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดการแต่งหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา จัดพิมพ์จำหน่ายในราคาถูกเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน

เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินตามวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ พระพุทธรูปปางประทานพรที่เรียกกันว่าพระ ภ.ป.ร. และพระพิมพ์กำลังแผ่นดิน สมเด็จจิตรลดา นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์บำรุงวัดวาอารามและปูชนียสถานต่าง ๆ ทางศาสนา พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค อุปสมบทเป็นพระภิกษุและทรงอุปสมบทนาคหลวงทุกปี

นอกจากพระราชกรณียกิจดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีศาสนาตามที่ประชาชนกราบบังคมทูลอัญเชิญ เช่น ฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา ยกช่อฟ้า วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถเททองหล่อพระประธาน และหล่อเทียนพรรษา เป็นต้น

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การเสด็จออกทรงพระผนวชระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม - ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ รวมเวลา ๑๕ วัน แม้จะเป็นระยะเวลาน้อยเนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจอยู่มาก แต่ก็เป็นการแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ยิ่ง

ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่น ๆ ในพระราชอาณาจักรโดยทั่วถึงกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานของศาสนาต่าง ๆ ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญ เช่น เสด็จพระราชดำเนินในงานเมาลิดกลางของศาสนาอิสลาม และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานฉลองครบรอบ ๕๐๐ ปีแห่งศาสนาสิกข์ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์อุปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่น ๆ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้แทนขององค์การศาสนาต่าง ๆ

เพื่อเป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนให้ประชาชนเป็นคนดี ตามหลักการแห่งศาสนาของตน อันจักเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมสืบไป กล่าวได้ว่า พระบารมีและบรมราชูปถัมภ์ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ศาสนาต่าง ๆ ทำให้ประชาชนทุกชาติทุกภาษา ทุกศาสนาต่างอาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศไทยอย่างสงบสุขราบรื่น โดยไม่ปรากฏความขัดแย้งกัน

และทั้งนี้เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จากที่ประชุม มส.ได้ลงมติเห็นชอบพิจารณาการจัดกิจกรรมร่วมฉลองในงานมหามงคลดังกล่าว โดยจะมีการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงจำนวน 12 วัด ทั่วประเทศประกอบด้วย วัดเทพลีลา เขตบางกะปิ กทม. , วัดจองคำ อ.งาว จ.ลำปาง , วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบรี , วัดตากฟ้า อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ , วัดพัฒนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี , วัดกะพังสุรินทร์ อ.เมือง จ.ตรัง , วัดพุทไธสวรรย์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา , วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ , วัดพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ , วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.เมือง จ.น่าน , วัดเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และวัดลุ่มมหาชัยชุมพล อ.เมือง จ.ระยอง

วัดราษฎร์ที่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นพระอารามหลวงได้จะต้องเป็นวัดที่เด่นในเรื่องของการศึกษา จะต้องเป็นวัดที่ส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์ทั้งด้านปริยัติธรรมและการปฏิบัติธรรม รวมทั้งจะต้องเป็นวัดที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของชาติ โดยจะได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มิ.ย. 2549 นี้




ผู้ป้อนข้อมูล [ผู้ดูแลระบบ] วันที่ 01 ก.ค. 2555

ปิดหน้านี้